TSP Webboard
TSP Radio
 
1) มาถึงปารีส
 
2) การศึกษา
 
3) สาขาวิชาต่าง ๆ
 
4) เล่าสู่กันฟัง
 
5) กิจกรรมยามว่าง
 
6) มุมน้ำชาในห้องรับแขก
 
7) เที่ยวปารีส
 
8) links
 
   
 

ระบบการศึกษาของฝรั่งเศส LMD

 
 

ระบบการศึกษาของประเทศฝรั่งเศส เป็นระบบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาของไทย และประเทศตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมากกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากชาวฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อคติประจำชาติที่ว่า “เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ” เป็นอย่างยิ่ง คติพจน์ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก รวมถึงด้านการศึกษาซึ่งชาวฝรั่งเศสถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากความเคารพในด้านเสรีภาพ และความเสมอภาค

การให้การศึกษาโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนเป็นการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งสิทธิ และโอกาสของแต่ละบุคคลในเรื่องความเสมอภาคกันทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธารณรัฐมอบให้แก่ทุกคนที่อยู่ในฝรั่งเศส ระบบการให้ทุนการศึกษาจะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันทางด้านโอกาสทางการศึกษา ขอแต่เพียงเขาเหล่านั้นมีสติปัญญาที่ดีเขาก็จะได้รับโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมกับคน อื่น ๆ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ผิวพรรณหรือฐานะทางสังคมแต่อย่างใด อีกประการหนึ่ง โดยที่เล็งเห็นว่าการศึกษาจะนำไปสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ความคิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเสรีภาพทางความคิด ดังนั้น ชาวฝรั่งเศสจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับโรงเรียนมาโดยตลอด และมอบหมายให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะสร้างและรักษาไว้ ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้โอกาสกับเด็กที่บิดามารดาเป็นชาวต่างชาติและ พักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสได้รับการผสมผสาน ความเป็นฝรั่งเศสไว้ในตัว

หลักเกณฑ์ของระบบการศึกษาฝรั่งเศส ประกอบด้วยหลัก 4 ประการ คือ

1. ความเท่าเทียมกันทางโอกาสในการเข้ารับการศึกษา 2. การไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ผิวพรรณ และฐานะทางสังคม 3. ความมีสถานะเป็นกลาง 4. ความไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใด ๆ

นโยบายทางการศึกษา

นโยบายทางการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสระบุไว้ว่า “รัฐบาลสามารถกำหนดได้ เฉพาะหลักเกณฑ์ ทั่วไปของระบบการศึกษา” กล่าวคือ การบัญญัติ และการจัดตั้งระดับการศึกษา และปริญญาบัตร ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่เฉพาะของสาธารณรัฐ การสอบทั่วไปโดยข้อสอบของรัฐต้องเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาทุกคน ในสถาบันระดับอุดมศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนชั้นสูง เป็นต้น สถาบันเหล่านั้นต่างก็มีอิสระในการบริหาร และยังมีสถาบันเอกชนจำนวนมากเช่นกันที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล

ระบบการศึกษาของรัฐเป็นบริการฟรี เว้นแต่ค่าลงทะเบียนเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก

การศึกษาภาคบังคับในฝรั่งเศสอยู่ระหว่างอายุ 6 - 16 ปี ระบบการศึกษาของรัฐรับเด็กเข้าศึกษา 80% ของจำนวนเด็กทั้งหมด โดยไม่มีสอนศาสนาแต่อย่างใด นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้มีการแสดงออกที่ชัดเจนทางศาสนา

ข้อบ่งชี้ถึงความมีเสรีภาพในการเรียนการสอนประการหนึ่ง คือการเปิดโรงเรียน หรือสถานศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นเสรี ใครก็ตามสามารถเปิด หรือจัดการศึกษาได้ทั้งสิ้น และทุกระดับชั้นการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา หรือแม้แต่ระดับอุดมศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องรักษาหลักเกณฑ์ 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น และรักษาเงื่อนไขทางด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และการจัดระเบียบสาธารณะ

การศึกษาก่อนวัยเรียน 2 - 5 ขวบ

ไม่เป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติอันยาวนานของฝรั่งเศส ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กที่อายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป เข้าโรงเรียนถึง 99% ของจำนวนเด็กทั้งหมด โรงเรียนอนุบาลของรัฐเป็นบริการฟรี แต่ในโรงเรียนเอกชนผู้ปกครองต้องเสียค่าเล่าเรียนเอง โดยทั่วไปโรงเรียนอนุบาลแยกออกเป็น 3 ชั้นเรียน คือ ชั้นเล็ก (Petite Section) ชั้นกลาง (Moyenne Section) และชั้นสูง (Grande Section)

การศึกษาระดับประถมศึกษา 6 - 10 ขวบ (Primary School)

เป็นการบริการฟรีและเป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กฝรั่งเศสและเด็กต่างชาติในฝรั่งเศส โรงเรียนระดับประถม ประกอบด้วย 5 ชั้น คือ ชั้นเตรียมประถมศึกษา Classe Préparatoire (CP) ชั้นประถมศึกษาตอนต้นปีที่ 1 Cours Elémentaire 1 (CE1) ชั้นประถมศึกษาตอนต้นปีที่ 2 Cours Elémentaire 2 (CE2) ชั้นประถมศึกษาตอนปลายปีที่ 1 Cours Moyen 1 (CM1) และชั้นประถมศึกษาตอนปลายปีที่ 2 Cours Moyen 2 (CM2)

การศึกษาระดับมัธยมศึกษา 11 - 18 ปี (Secondary School)

ยังคงเป็นการบริการฟรีและส่วนหนึ่งยังคงเป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กฝรั่งเศสและเด็กต่างชาติในฝรั่งเศส แยกออกเป็น 2 ระดับ คือ

มัธยมต้น (11 - 14 ปี) เป็นการศึกษาระบบเดียวกันทั้งหมด สถานศึกษาเรียกว่า “Collège” รับเด็กทุกคนที่สำเร็จจากชั้นประถมศึกษา ประกอบด้วย 4 ชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (Sixième) จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (Troisième) เป็นการเรียนการสอนทั่วไปในวิชาการสายสามัญ โดยยังไม่แยกออกเป็นวิชาเฉพาะด้าน

มัธยมปลาย (15 - 17 ปี) สถานศึกษาเรียกว่า “Lycée” ภายหลังสำเร็จการศึกษา จะได้รับประกาศนียบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา ซึ่งเริ่มแยกการศึกษาออกเป็น 2 ระบบ คือ

1. โรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญและทางเทคโนโลยี (Lycée d’enseignement général et technologique) ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี คือชั้นปีที่ 2 (Seconde) ชั้นปีที่ 1 (Première) และชั้นปลาย (Terminale) เพื่อเตรียมสอบรับประกาศนียบัตรสายสามัญ (Baccalauréat général) หรือประกาศนียบัตรสายเทคโนโลยี (Baccalauréat technologique) หรือประกาศนียบัตรสายช่างเทคนิค (Brevet de technicien)

2. โรงเรียนมัธยมศึกษาสายวิชาชีพ (Lycée Professionnel) เพื่อเตรียมสอบรับประกาศนียบัตรวิชาชีพ Certificat d’Aptitude Professionnelle (CAP) หรือประกาศนียบัตรอาชีวศึกษา Brevet d’Etudes Professionnelles (BEP) และประกาศนียบัตรมัธยมปลายสายอาชีพ (Baccalauréat professionnel)

ประกาศนียบัตร Baccalauréat เป็นกุญแจสำคัญสู่การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งประกาศนียบัตรดังกล่าวนี้จะต้องเป็นประกาศนียบัตร แห่งชาติที่ได้มาจากผลการสอบทั่วไป โดยข้อสอบกลางของรัฐ ไม่ใช่ ประกาศนียบัตรของสถานศึกษา ซึ่งเทียบเท่าวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในประเทศไทย นักเรียนที่จบ ม.6 และต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในประเทศฝรั่งเศส จำเป็นต้องสอบวัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศสให้ได้เสียก่อน

การศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education System)

สาธารณรัฐฝรั่งเศสมีประวัติทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ยาวนาน มหาวิทยาลัยแห่งแรกก่อตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 12 - 13 เช่น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง “ลา ซอร์บอนน์ (La Sorbonne)” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1257 หรือ พ.ศ. 1800

การพัฒนาหลักสูตรในหลาย ๆ ศตวรรษต่อมา และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของสังคม ทำให้ระบบอุดมศึกษาของฝรั่งเศสเป็นระบบที่ค่อนข้างซับซ้อน

จากความมุ่งหมายเดิมของการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือ การให้การศึกษาและการวิจัย มหาวิทยาลัยได้ปรับตนเองไปตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของสังคม ตลอดจนระบบเศรษฐกิจ เช่น การเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนของภาคธุรกิจเอกชน โดยการก่อตั้ง Instituts Universitaires de Technologies (IUT) ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นสถาบันที่สอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นักศึกษาจะเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมแบบธุรกิจจริง ๆ เมื่อจบการศึกษา จะได้รับประกาศนียบัตร DESS ซึ่งเป็นสิ่งประกันความสามารถทางวิชาชีพของนักศึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมในระดับสูง และยังให้นักศึกษาได้รับการ ฝึกความชำนาญเฉพาะด้านในระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญเฉพาะอีกด้วย

สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของฝรั่งเศสส่วนมากเป็นของรัฐ มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 90 แห่ง มหาวิทยาลัยคาทอลิก 5 แห่ง สถาบันโปรเตสแตนต์ 3 แห่ง และอื่น ๆ อีก 4 แห่ง

จุดมุ่งหมายอย่างเป็นทางการของระบบอุดมศึกษาตามกฎหมายลงวันที่ 26 มกราคม 1984 ได้ให้ความหมายของการให้บริการของรัฐด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไว้ว่า หน้าที่ของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ

การฝึกอบรมเบื้องต้นให้กับนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และให้การศึกษาต่อเนื่องตลอดช่วงการดำเนินชีวิต และเปิดกว้างให้ผู้ที่ต้องการศึกษาทุกระดับ ซึ่งหมายความว่าผู้ใดก็สามารถเข้าไปเรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยได้ทุกเพศทุกวัยและทุกระดับพื้นความรู้

การดำเนินการและการเผยแพร่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเผยแพร่วัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเภทของสถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีหลายประเภท การจัดองค์กร และเงื่อนไขการเข้ารับการศึกษาจะแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะของสถาบัน และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร สถาบันการศึกษาแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทดังนี้

1. มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเปิดรับผู้ได้รับประกาศนียบัตร Baccalauréat (หรือเทียบเท่า) ทุกคน โดยไม่มีการสอบคัดเลือก เว้นแต่ในด้านการศึกษาสายแพทย์และเภสัชกร และสถานบัน IUT หรือ IUP มหาวิทยาลัย ของรัฐ เหล่านี้ให้การศึกษาอย่างกว้างขวางหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งแบ่งออกเป็นการให้ความรู้ทั้งด้านที่เป็นหลักทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ

2. สถาบันที่เรียกว่า โรงเรียน (Ecole) ซึ่งมีทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ให้การศึกษาเพื่อความมุ่งหมายด้านวิชาชีพ

ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน

โดยทั่วไปใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเรียนการสอน แต่จากการเปิดกว้างทางการศึกษาระหว่างประเทศและการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัย ทำให้สถานศึกษาบางแห่งเลือกเปิดหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของหลักสูตรต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องเสียค่าเรียนเพิ่มขึ้นเพราะสถานศึกษาต้องจ้างครู อาจารย์ที่ใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสอนธุรกิจการจัดการ

นักศึกษาต่างชาติ

นักศึกษาต่างชาติมีจำนวนประมาณ 10% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดในฝรั่งเศสและจะอยู่ในปารีสมากที่สุด ตามหลักเกณฑ์การไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ผิวพรรณ ทำให้นักศึกษาต่างชาติได้รับเงื่อนไขเดียวกันกับนักศึกษาฝรั่งเศสและเสียค่าธรรมเนียมเท่ากัน และหากประเทศใดมีการตกลงแบบทวิภาคีระหว่างรัฐบาลกับฝรั่งเศส จะทำให้นักศึกษาต่างชาติของประเทศนั้น ได้รับสวัสดิการสังคมและโอกาสที่จะได้ที่พักในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันกับชาวฝรั่งเศส (แต่ประเทศไทยมิได้มีข้อตกลงดังกล่าวร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส)

ความหลากหลายของวิถีทางการศึกษาและปริญญาบัตรต่าง ๆ จำนวนมากที่มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ประสิทธิประสาทให้ ทำให้ระบบอุดมศึกษาของฝรั่งเศสเป็นปัญหากับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้น ในคู่มือฉบับนี้ จะอธิบายอย่างย่อ ๆ ถึงระบบอุดมศึกษาของฝรั่งเศส โดยจะเน้นถึงวิธีการศึกษาที่เหมาะกับนักศึกษาไทย การศึกษาระดับอุดมศึกษาของฝรั่งเศสเป็นการศึกษาต่อจาก Baccalauréat (เทียบเท่าประกาศนียบัตร ม.6 ของไทย) นักศึกษามีทางเลือก 3 ทาง คือ

1. หลักสูตรระยะสั้น (Short Curriculum) 2. หลักสูตรโรงเรียนชั้นสูง (“Grandes Ecoles” Curriculum) 3. หลักสูตรมหาวิทยาลัย (University Curriculum)

หลักสูตรระยะสั้น 2 - 3 ปี (Short Curriculum)

เป็นการศึกษาทางด้านวิชาชีพหรือความชำนาญทางด้านเทคนิคสาขาใดสาขาหนึ่ง ภายในเวลา 2 - 3 ปี สถานศึกษา คือ STS (Section de Technicien Supérieur) หรือ IUT (Instituts Universitaires de Technologies) ปริญญาบัตรที่ได้คือ BTS (Brevet de Technicien Supérieur) หรือ DUT (Diplôme Universitaire de Technologie)

BTS มีปริญญาบัตรสาขาวิชาต่าง ๆ มากมายตั้งแต่ระดับเลขานุการ จนถึงการโรงแรมหรือภัตตาคาร พาณิชยการ การท่องเที่ยว และการใช้คอมพิวเตอร์ทางการบริหาร

DUT มีปริญญาบัตรสาขาวิชาการก่อสร้างและโยธาธิการ การบำรุงรักษาสำหรับอุตสาหกรรม อาชีพทางสารสนเทศ และการบริหาร

นักศึกษาที่สำเร็จ BTS หรือ DUT และมีผลการเรียนดี สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนวิศวกร ตามที่สถานศึกษาจะพิจารณาคัดเลือก โดยจะพิจารณาจากผลการเรียนที่ผ่านมา หรือการสอบคัดเลือก

นักศึกษาต่างชาติได้รับโอกาสให้เข้าศึกษาทางด้านนี้ โดยไม่ต้องสอบความรู้พื้นฐานทางด้านภาษาขณะเมื่อลงทะเบียนเข้าเป็นนักศึกษา แต่การที่ ไม่มีการทดสอบพื้นความรู้ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้หมายความว่าพื้นฐานด้านภาษาไม่มีความจำเป็น

หลักสูตรโรงเรียนชั้นสูง (“Grandes Ecoles” Curriculum)

โรงเรียนชั้นสูง Grandes Ecoles เป็นระบบการศึกษาเฉพาะของฝรั่งเศส ซึ่งประเทศอื่น ๆ ไม่มีระบบการศึกษานี้

Grandes Ecoles มีหลักสูตรที่เปิดทำการสอน 3 ด้าน คือ

1. Business and Management 2. Engineering 3. Political Sciences

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Grandes Ecoles (CGE) : http://www.cge.asso.fr

เงื่อนไขการเข้าเรียนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ

มีเงื่อนไขเดียวกันกับชาวฝรั่งเศสคือ การสอบแข่งขัน (Concours) สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ จึงเป็นการยากมากที่จะผ่านการสอบแข่งขัน แม้ว่าโรงเรียนบางแห่งจะได้จัดหลักสูตรเตรียมการสำหรับนักศึกษาต่างชาติให้เป็นพิเศษแล้วก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่านอกจากจะต้องมี ความรู้พื้นฐานในสาขาวิชาอย่างดีเลิศแล้ว ยังจะต้องมีความสามารถทางภาษาอีกด้วย สถาบันศึกษาเอกชนมีวิธีการคัดเลือกนักศึกษาแตกต่างกันออกไป

โรงเรียนชั้นสูง Grandes Ecoles มีประมาณ 300 แห่ง ซึ่งมีระบบการสอบคัดเลือกที่เข้มงวดมาก การเตรียมตัวสอบคัดเลือก (Concours d’entrée) ใช้เวลาศึกษา 2 ปีในโรงเรียนเตรียมการ (Ecoles Préparatoires) ส่วนโรงเรียนชั้นสูงในด้านธุรกิจ เริ่มนิยมเปิดหลักสูตร BBA และ MBA ภาษาอังกฤษหรือสองภาษา (อังกฤษ-ฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษาไทยที่มีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีแล้วที่จะไปเรียนต่อด้านการบริหารธุรกิจ โดยมีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งเศสและยุโรปไปพร้อมกันด้วย

หลักสูตรมหาวิทยาลัย (University Curriculum)

มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่รับนักศึกษาจำนวนมากที่สุด มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสเป็นสถานศึกษาของรัฐเกือบทั้งหมด ในส่วนของ มหาวิทยาลัยเอกชน โดยทั่วไปเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่นกลุ่มมหาวิทยาลัยคาทอลิก หรือกลุ่มสถาบันโปรเตสแตนต์ มหาวิทยาลัยของรัฐ ดำเนินงานโดยมีอิสระทั้งในด้านการบริหาร การเงิน วิธีการสอน และ หลักสูตร

การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเอง เมื่อนักเรียนต้องการทำการเทียบเท่าปริญญาบัตรเพื่อไปศึกษาต่อยังประเทศอื่น เป็นการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้เข้ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น ๆ เรียกว่าระบบ LMD แยกออกเป็น 3 ระดับ (3ème cycles d’études) ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งแต่ละระดับจะมีปริญญาบัตรแห่งชาติ

1. ระดับที่หนึ่ง (1er cycle) ซึ่งเป็นระดับการศึกษาทั่วไป ใช้เวลา 3 ปี (BAC+3)และได้รับอนุปริญญา Licence 2. ระดับที่สอง (2ème cycle) เป็นระดับการศึกษาที่เจาะลึกลงไปในสาขาวิชา เป็นการฝึกอบรมชั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการฝึก อบรมทั่วไป ใช้เวลาศึกษา 1 ปี เมื่อสำเร็จจะได้รับปริญญาบัตร Master1 (BAC+4)and Master2 (BAC+5) ซึ่งระดับ Master1 จะยังคงเป็นการเรียนการสอนในระบบการพัฒนาฝีมือและความคิด ควบคู่ไปกับการทำวิจัย แต่ว่าในระดับ Master2 จะเป็นระดับที่มีการเเยกอย่างชัดเจนว่าจะเป็นการพัฬนาทางด้านวิจัยหรือว่าฝีมือ ซึ่งตัวนักเรียนจะต้องเป็นคนเลือกเเละทำการบื่นเอกสารและทำการสมัครเรียนยังอาจารย์และต้องการเลือกผู้ควบคุมงานวิจัยและในบางสาขาวิชาจะต้องมีการนำเสนอหัวข้องานวิจัยต่ออาจารย์ก่อน 3. ระดับที่สาม (3ème cycle) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Post Graduate ซึ่งเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะและการฝึกอบรมวิจัย นักศึกษาต้องได้รับปริญญาบัตร Doctorat (BAC+6) หรือเทียบเท่า เช่น ปริญญาบัตรของโรงเรียนชั้นสูง เกณฑ์การคัดเลือกใช้วิธีการพิจารณาผลการเรียนที่ผ่านมาและการสัมภาษณ์ แต่ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของ มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากผล การเรียนที่ผ่านมาและหัวข้องานวิจัย

French Universities on the web

www.edufrance.fr/en/datas/a-etudier/A2-FRAME.HTM