TSP Webboard
TSP Radio
 
1) มาถึงปารีส
 
2) การศึกษา
 
3) สาขาวิชาต่าง ๆ
 
4) เล่าสู่กันฟัง
 
5) กิจกรรมยามว่าง
 
6) มุมน้ำชาในห้องรับแขก
 
7) เที่ยวปารีส
 
8) links
 
   
 

รู้กันบ้างไหม ทำไมต้อง SOLDES ?

 
 

รู้ไว้ใช่ว่า... เกี่ยวกับ SOLDES

ช่วงนี้ก็ถือได้ว่าเป็นนาทีทองของขาช้อป พลาดไม่ได้เลยกับมหกรรมเซลล์ฤดูหนาวที่เปิดฉากไป เพื่อนๆ เองก็คงจะได้ผ่านหูผ่านตากันไปบ้างตามข่าวในทีวีหรือบนหน้าหนังสือพิมพ์นะคะ ทั้งเรื่องที่ผู้คนพากันทนหนาวไปต่อเเถวรอเข้าห้างร้านกันยาวเหยียดตั้งเเต่วันเเรก (เพื่อนที่คณะก็เพิ่งมาสารภาพเหมือนกันค่ะว่าหนีงานไปต่อเเถวเเต่เช้าเหมือนกัน) หรือเรื่องที่เริ่มมีการถกเถียงกันถึงประเด็นความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานวันอาทิตย์ ตอนนี้บางร้านก็เริ่มปรับราคา ลดกระหน่ำกันอีกยกใหญ่ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มากที่สุดในระยะเวลานี้ เพราะเพื่อนๆอาจจะทราบกันบ้างเเล้วว่ากฏหมายฝรั่งเศสกำหนดไว้ให้มีช่วงเซลล์ได้เเค่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกินหกสัปดาห์เท่านั้น มาถึงตรงนี้ หลายๆคนก็อาจจะมีข้อสงสัยกัน ว่าทำไมต้องมีการเซลล์ เเล้วทำไมต้องกำหนดให้มีการจัดเซลล์เเค่ปีละไม่กี่ครั้ง ข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ในช่วงที่ทุกคนต่างให้ความสนใจกับเรื่องนี้ มีอะไรที่ควรจะต้องรู้บ้างเกี่ยวกับการจัดรายการเซลล์ เเล้วที่สำคัญ สิทธิผู้บริโภคที่เราๆท่านๆควรจะรู้นั้นมีอะไรบ้าง

ทำไมต้อง soldes ?

ก่อนอื่น ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า จุดมุ่งหมายของการเซลล์ นั้นคืออะไร ตามหลักเเล้วการเซลล์ที่จัดให้มีขึ้นในปีละสองครั้งนั้น มีเป้าหมายหลักให้พ่อค้าหรือผู้ประกอบการระบายสินค้าฤดูกาลเก่าออกจากสต็อค เพื่อรับสินค้างวดใหม่สำหรับฤดูกาลใหม่เข้ามาขาย เป็นการลดภาระในการกักตุนสินค้าอย่างหนึ่ง เพราะเราๆท่านๆถึงจะไม่เคยค้าขายเป็นอาชีพหลักก็คงพอจะเดากันได้ว่า การเก็บสินค้าไว้ในจำนวนมากๆนั้นก็เป็นภาระเพียงใด ไม่เพียงเเต่จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะเจาะเพื่อเอาไว้เก็บสต็อค พ่อค้าเเม่ขายที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมายที่จะตามมา ทั้งเรื่องราคาค่าเช่าที่ไปจนถึงราคาค่าบำรุงรักษาเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพดีตลอดเวลา นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกอย่าง ก็น่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงผู้คนให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันอีกด้วย

ทำไมถึงต้องมีกฏหมายควบคุม soldes ?

คำถามต่อมา ในเมื่อการ มีข้อดีหลายๆดังที่กล่าวมาข้างต้น หลายๆคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมไม่มีการลดราคาสินค้า จัดโปรโมชั่นกันบ่อยๆนะ ทำไมกฏหมายจะต้องกำหนดให้มีการเซลล์เเค่ปีละสองครั้งด้วย การจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องเข้าใจจุดประสงค์หลักของกฏหมายก่อนว่าคืออะไร ? กฏหมายฉบับที่ 5 กรกฎาคม1996 ว่าด้วยควบคุมการขายในช่วงเซลล์นั้น มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่สองประการคือ
- ควบคุมให้มีการเเข่งขันด้านราคากันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ
- คุ้มครองผู้บริโภค

อย่างเเรก เพื่อให้มีการเเข่งขันกันอย่างเป็นธรรมด้านราคา เพราะฝรั่งเศสมีกฏหมายการค้าที่ควบคุมเรื่องการตั้งราคา โดยห้ามมิให้มีการปั่นราคาขายให้ต่ำกว่าราคาจริงของสินค้า่ในท้องตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า(มาตรา 442-4 ประมวลกฏหมายพาณิชย์ ) จะเห็นได้ว่า การลดราคาในช่วงเซลล์ที่ตามหลักเเล้วขัดต่อกฏหมายนั้น ก็เป็นข้อยกเว้นอย่างหนึ่งที่กฏหมายเองบัญญัติไว้ ดังนั้นการจัดรายการจึงต้องเคารพมาตรการเเละเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างเคร่งครัดเลยทีเดียว อย่างที่สอง ข้อจำกัดต่างๆถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้การ ดำเนินไปด้วยความชัดเจน โปร่งใส เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถรับรู้สิทธิที่พึงมีเเละเงื่อนไขต่างๆในช่วงลดราคานี้ด้วย

Soldes, promotion, liquidation ความเหมือนที่เเตกต่าง

ถ้าเราทราบกันดีเเล้วว่า กฏหมายบ้านเมืองนี้เขากำหนดให้มีช่วง soldes ได้เเค่สองครั้งเท่านั้นในหนึ่งปี เเล้วไหงนอกเหนือจากช่วงเวลานี้ เราอาจจะเคยเห็นร้านค้าที่เเปะป้ายลดราคาเหมือนกัน เเถมคำโฆษณาจำพวก "tout doit disparaître", "destockage", "coup de balai", "fin de série" อะไรทำนองนี้ อันนี้ก็ต้องมาดูกันว่า นอกเหนือจาก soldes เเล้ว กฏหมายก็อนุญาตให้มีการจัดรายการลดราคาอื่นๆได้เช่นกัน เเต่ก็จะมีเงื่อนไขเเละมาตรการควบคุมในรายละเอียดปลีกย่อยเเตกต่างกันไป
- promotion จุดมุ่งหมายก็คือ ส่งเสริมการขายสินค้าประเภทหนึ่งๆในรายการโปรโมชั่นนั้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่โดยการลดราคาสินค้าเพียงอย่างเดียวเหมือนกับช่วง soldes ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆอาจจะเป็น การลดราคาเมื่อมีการซื้อสินค้าเป็นจำนวน x ชิ้นขึ้นไป หรือซื้อหนึ่งเเถมหนึ่ง เป็นต้น ไม่มีกฏหมายพิเศษออกมาเพื่อควบคุมการขายประเภทนี้ มีเเต่หลักการทั่วไปที่สามารถปรับใช้ได้ อาทิเช่น ต้องมีสต็อคสินค้าประเภทนั้นๆเพียงพอในช่วงระยะเวลาที่จัดโปรโมชั่น, ห้ามมิให้มีการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค เเละต้องระบุระยะเวลาโปรโมชั่น จำนวนสินค้าที่จะจัดรายการให้ชัดเจน
- liquidation มีเงื่อนไขคล้ายคลึงกับ soldes เเต่เเตกต่างกันค่อนข้างมากโดยเฉพาะในด้านของเหตุผลที่อนุญาตให้มีการลดล้างสต็อคได้ อาทิเช่น การเปลี่ยนเเปลงประเภทของกิจการ การล้มเลิกกิจการ การหยุดพักกิจการชั่วคราวอย่างน้อยห้าเดือน หรือหากมีการเปลี่ยนเเปลงสำคัญๆในการประกอบกิจการนั้นๆ เช่น เปลี่ยนจากการขายสินค้าประเภทหนึ่งไปเป็นอีกประเภทหนึ่ง เป็นต้น ระยะเวลาที่อนุญาตให้จัดรายการก็ต้องไม่เกินสองเดือน เเละต้องเเจ้ง préfecture ล่วงหน้าเหมือนกับ soldes

มาสร้างภูมิคุ้มกันในช่วง soldes

นอกเหนือจากการควบคุมกิเลสส่วนบุคคลเเละกระเป๋าสตางค์ตัวเองเเล้ว เรามาดูกันว่าหลักการคร่าวๆที่ควรจะต้องรู้เกี่ยวกับการจัดรายการ soldes เเละสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคนั้นมีอะไรบ้าง

- ช่วงเวลาเเละระยะเวลาในการเซลล์ ตามที่ได้เกริ่นๆไปบ้างเเล้วก่อนหน้านี้ รายการเซลล์จะจัดได้ปีละสองครั้งเท่านั้น โดยจะตรงกับช่วงเดือนมกราคม(เซลล์ฤดูหนาว)เเละกรกฎาคม(เซลล์ฤดูร้อน)โดยประมาณของทุกปี ระยะเวลาก็ไม่เกินหกอาทิตย์

- สินค้าที่นำมาเซลล์ก็จะต้องเป็นสินค้าที่ทางผู้ขายได้จ่ายราคาสินค้าให้กับตัวเเทนที่ส่งไปแล้วเเละวางขายอยู่ในร้านเเล้วเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาสินค้าล็อตใหม่ๆมาจัดรายการตัดราคาทำลายคู่เเข่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดบรรยากาศเเข่งขันด้านการค้าเเบบไม่เป็นธรรม ขึ้น ข้อนี้ทางผู้ประกอบการก็ต้องคอยสอดส่องระวังในการเก็บบิลล์ที่ชำระค่าสินค้าไว้ให้ดี เพราะอาจมีการเรียกตรวจจากเจ้าหน้าที่ที่ออกตรวจตราในช่วงนี้ได้

- มาถึงเรื่องการโฆษณา ทางร้านก็ต้องระบุวันเริ่มต้นจัดรายการให้ชัดเจน รวมถึงประเภทสินค้าที่จะร่วมรายการในกรณีที่การเซลล์ไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งสต็อค

- เรื่องสำคัญที่คงจะละเลยไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งก็คงจะเป็นราคาสินค้าที่เอามาลด เเลกเเจกเเถมกันล่ะค่ะ อันนี้ก็น่าจะเป็นหัวข้อที่ทุกคนสนใจเป็นพิเศษใช่ไหมคะ ว่ามันมีกฏเกณฑ์อะไรมาบังคับ ควบคุมราคาที่ลดๆกันบ้างหรือเปล่า ในส่วนที่เกี่ยวกับเปอร์เซนต์ที่ร้านค้าจะใช้ ก็คงจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าของร้านเเล้วเเหละว่าจะลดเท่าไหร่ อาจจะลดเเหลกเเจกเเถมกันตั้งเเต่เริ่มรายการ หรือจะค่อยๆหลอกล่อให้ลูกค้าตายใจคิดว่าชาตินี้เธอจะไม่ลดให้ฉันอีกเเล้ว จนต้องรีบควักกระเป๋าซื้อมันตั้งเเต่เเรกเลยก็มี(ส่วนตัวเเล้วพลาดทุกทีครั้ง ทั้งๆที่มันลดนิดเดียวเองนะ ฮือ) เเต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของร้านจะตั้งราคาขายเท่าไหร่ก็ได้ตามอำเภอใจนะคะ (ไม่งั้นรวยตายเลย เเหะๆ) หลักการสำคัญๆที่กฏหมายกำหนดก็มีว่า ราคาเต็มที่ต้องระบุบนป้ายก่อนจะเขียนราคาที่ลดเเล้วลงไปนั้น จะต้องเป็นราคาที่ต่ำที่สุดที่กำหนดขายในช่วงสามสิบวันก่อนรายการเซลล์ งงไหมเนี่ย ลองยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าในช่วงสามสิบวันนี้ ร้านค้าจัดรายการโปรโมชั่นลดราคา 20% จาก 100 เหลือ 80 ยูโร ราคาสินค้าเต็มก่อนจะเอามาลดในช่วงเซลล์ก็ต้องเป็นราคาที่ลดเเล้ว 20% คือราคา 80 ยูโร นี้ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในช่วงเวลาที่กำหนดก่อนเซลล์ มิใช่ราคาก่อนหน้านี้เเต่อย่างใด ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อให้การเซลล์บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ นะคะ เราๆท่านๆซึ่งเป็นผู้บริโภคก็จะได้เสียเงินซื้อของกันในราคาที่ลดเเล้วจริงๆล่ะ

- มาถึงการจัดวางสินค้าในร้านก็เหมือนกัน เราจะเห็นได้ว่า ช่วงเซลล์เเต่ละร้านก็อยากจะเพิ่มยอดขายกันให้ทะลุเป้าไปเลย กลยุทธมากมายหลายอย่างก็จะถูกงัดออกมาใช้กันเพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้านให้มากที่สุด เราอาจจะเห็นกันบ่อยๆว่ามีการตั้งโซนสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ยั่วยวนใจลูกค้าภายในร้านด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกติกาเเต่อย่างใด กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคเพียงเเต่ระบุว่า โซนสินค้าใหม่กับเก่าต้องเเยกกันให้ชัดเจนเท่านั้น เพื่อเป็นการ ป้องกันมิให้ลูกค้าสับสนกับสินค้า หยิบของใหม่ไปโดยนึกว่าเป็นสินค้าที่ร่วมรายการเซลล์ ไปถึงช่องจ่ายเงินเเล้วปรากฏว่าไม่มีส่วนลด ใดๆทั้งสิ้น ถ้าเป็นการจงใจสร้างความสับสนของทางร้านก็เข้าข่ายหลอกลวงผู้บรโภคได้นะค้า

- ข้อควรระวังอีกข้อหนึ่งก็คือ การซื้อของในช่วงเซลล์นี้ ส่วนมากจะพบข้อความว่า ไม่รับคืน ไม่รับเปลี่ยน(ni repris ni échangé) ซึ่งก็ต้องเตือนกันไว้ก่อนว่าทางร้านสามารถทำได้ ไม่ผิดกติกาเเต่อย่างใด ถ้ามีการชี้เเจงผู้บริโภคอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขนี้ตั้งเเต่เเรก เช่น ติดป้ายประกาศที่เห็นได้ชัดภายในร้าน ไม่ได้งุบงิบทำ ซึ่งข้ออนุโลมอันนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยากนะคะ ช่วงนี้นอกจากคนขายจะอยากเร่งระบายของ ออกจากสต็อคให้ได้มากที่สุดเเล้ว ยังมีงานหนักจัดของ จัดร้านเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวทีเดียว เพราะเท่าที่เห็นบางร้านขวัญใจมหาชนอย่าง Zara หรือ H&M เนี่ย ลูกค้าโหดได้ใจ ทั้งรื้อ ทั้งลองของกันได้เละเทะกระจุยกระจาย น่าเห็นใจคนขายเสียเหลือเกิน ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นสองเท่าในการเลือกซื้อสินค้า อย่าได้หลงไปกับราคาที่ยั่วยวนใจเเต่เพียงอย่างเดียว ต้องระมัดระวังเเละทำความเข้าใจกับเงื่อนไขต่างๆให้ดีเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจทีหลัง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อควรรู้ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ข้อจำกัดนี้ไม่ครอบคลุมถึงผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าทางอินเตอร์เนต ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองมากกว่าเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าในการซื้อขายปรกติกฏหมาย กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเปลี่ยนใจ(droit de rétractation) ยกเลิกการซื้อได้ภายใน 7 วัน ซึ่งสิทธิอันนี้ก็ยังคงปรับใช้ด้วยกับการซื้อขายสินค้าลดราคาออนไลน์นะคะ

ทำอย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาในการซื้อขายระหว่างช่วงเซลล์

ที่ฝรั่งเศสมีหน่วยงานที่เรียกว่า La Direction Générale de la Concurrence, de la Consommation et de la Répression des Fraudes (DGCCRF) คอยควบคุมดูเเลในด้านนี้อยู่ เเละนอกจากนั้นยังมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอีกมากมายที่คอยให้คำเเนะนำเเละช่วยเหลือผู้บริโภคไปจนถึงการขึ้นโรงขึ้นศาลเลยทีเดียว http://www.conso.net/page/bases.1_pour_comprendre_agir.1_guide_et_adresses.2_association_de_consomateur./

จากข้อควรรู้คร่าวๆที่เอามาฝากกันนี้ หวังว่าคงพอจะช่วยให้เพื่อนๆมีเเนวทางที่จะช้อปให้สบายกระเป๋า เเละสบายใจกันบ้างเเล้ว อย่าช้อปเพลินจนลืมคำนวณเงินกันดีๆด้วยนะคะ

อ้างอิง :

-  art. L310-1 à L 310-7 du Code de commerce
- Décret n°96-1097 du 16 décembre 1996 pris pour l’application du titre III, chapitre Ier, de la loi no 96-603 du 5 juillet 1996 et relatif aux ventes en liquidation, ventes au déballage, ventes en soldes et ventes en magasins d’usines
- Fiches pratiques de la Direction Générale de la Concurrence, de la Consommation et de la Répression des Fraudes (http://www.finances.gouv.fr/DGCCRF/index.html ?ru=00)

Kichugu Jung